พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า หรือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภา เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สามในพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ของกัลป์ปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธเจ้า 5 พระองค์เป็นที่นับถือของชาวทิเบตหรือที่เรียกว่า "ยับยัม" ประกอบด้วย พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พระไวโรจนะพุทธเจ้า และพระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า ทางนิกายเถรวาทมักจะคุ้นเคยเฉพาะพระศากยมุนีพุทธเจ้าเท่านั้น จึงถือโอกาสเขียนเรื่องพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าเพื่อคนที่สนใจได้ศึกษาต่อไป
พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า หรือออกเสียงว่า ซังเจ แมนลา སངས་རྒྱས་ ในภาษาทิเบตนั้นหมายถึงพระุพุทธเจ้าแห่งการรักษา โดยไภษัชย หมายถึง การแพทย์ การรักษา หรือการบำบัด คุรุ หมายถึง บรมครูซังเจ แมนลาสถิตยังพุทธเกษตรทิศตะวันออก ท่านมีพระวรกายสีน้ำเงินเข้มสดใสประดุจไพฑูรย์มณี ดังนั้นบางครั้งจึงขนานนามท่านว่าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ซังเจ แมนลา ทรงได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในฐานะที่เป็นบรมครูทางการแพทย์ นอกเหนือจากผู้ศึกษาการแพทย์แผนทิเบตและพระลามะแล้ว พระไภษัชยคุรุยังเป็นที่นับถือแพร่หลายในทิเบต มองโกเลีย และภูฏาน สำหรับในประเทศไทยพระนามของท่านไม่เป็นที่คุ้นหูกันมากนักหรือบางคนอาจไม่เคยได้ยินเลยด้วยซ้ำ แต่พระกริ่งที่คนไทยโบราณนิยมนำมาแช่น้ำเพื่อ ดื่มกิน อาบ ทา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือบางสำนักก็นิยมนำพระกริ่งมาใช้ทำน้ำมนต์นั้นแท้จริงแล้วคือพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั่นเอง บ้านเราใช้ท่านช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บกันมานานแต่หารู้พระนามที่แท้จริงของท่านไม่ เรียกติดปากแต่ “พระกริ่ง” ดังนั้นจึงถือเป็นการดีที่จะได้มาทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้าผู้ดูแลสุขภาพของท่านกันบ้าง พระกริ่งที่เราเห็นกันทั่วๆ ไปนั้นส่วนใหญ่พระหัตถ์ซ้ายทรงถือบาตรน้ำมนต์ พระหัตถ์ขวาแตะพื้นดินคล้ายพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัย แต่หากเป็นรูปเคารพของชาวทิเบตส่วนใหญ่แล้วพระหัตถ์ซ้ายจะทรงบาตรโอสถ และพระหัตถ์ขวาทรงสมุนไพรทิพย์ที่เรียกตามภาษาทิเบตว่าอาโรร่า จัดเป็นผลไม้ทิพย์ผลมีสองสีในหนึ่งต้น ถ้าให้เปรียบกับพืชในโลกมนุษย์ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ พืชตระกูลมัยโรบาลันซึ่งเป็นพืชสมุนไพรของอินเดีย ทิเบต และมองโกเลีย ปัจจุบันหาค่อนข้างยากแต่ยังคงมีจารึกวิธีการใช้พืชชนิดนี้อยู่ในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย นอกจากนั้นพระไภษัชยคุรุจะมีพระโพธิสัตว์สององค์เป็นผู้ช่วยในพุทธกิจต่างๆ องค์หนึ่งนามว่าผิดกวงเพียงเจีย หรือ พระสุริยประภาโพธิสัตว์ และอีกองค์หนึ่งนามว่า ง้วยกวงเพียงเจีย หรือ พระจันทรประภาโพธิสัตว์
สำหรับพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องราวและคุณธรรมของพระไภษัชยคุรุเรียกว่าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร ซึ่งจารึกโดยพระเสวียนจ้าง หรือพระเฮี้ยนจัง หรือพระถังซัมจั๋งที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง โดยพระสูตรฉบับแรกจารึกเป็นภาษาสันสกฤตครั้งท่านจาริกแสวงบุญไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดีย ต่อมาได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาจีนเมื่อปี 1193 ในพระสูตรได้กล่าวถึงปณิธาน 12 ประการของพระไภษัชยคุรุ เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์จากความเจ็บป่วยทั้งที่เกิดจากโรคทางกายและทางใจ เพื่อให้สรรพสัตว์มีชีวิตยืนยาวและสามารถยกระดับจิตญาณของตนให้สูงขึ้นได้โดยง่ายเพราะไม่มีเวทนามาคอยรบกวน ดังนั้นพระสูตรจึงกล่าวว่าพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าเป็นพระผู้ประทานโอสถ คือ ธรรม เพื่อเยียวยาสรรพสัตว์ที่ทุกข์ทรมานทางกายและใจ ในที่นี้ "ธรรม" หมายถึง โอสถที่ได้จากธรรมชาติเพื่อรักษาโรคทางกายและธรรมะโอสถเพื่อรักษาโรคทางใจ ด้วยเหตุนี้การแพทย์แผนทิเบตจึงให้ความสำคัญกับการรักษาโรคด้วยสมุนไพร มนตราบำบัด และการฟังพระคาถาเพื่อรักษาโรค รวมถึงการใช้ภาพปริศนาธรรมหรือมันดาลาในการรักษาโรคที่เกิดจากจิตและอารมณ์ที่ไม่สมดุล ตามคติการแพทย์แผนทิเบตโรคภัยไข้เจ็บทางกายมีรากเหง้าหรือสาเหตุของความเจ็บป่วยมาจากจิตได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ
เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่ได้มาจากเชื้อโรค แต่เกิดจากภาะวะจิตใจและการไม่ได้ควบคุมอารมณ์ทั้ง 7 ให้อยู่ในภาวะสมดุล ยกตัวอย่างเช่น วันหนึ่งๆ เรามีอารมณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งสุข เศร้า โกรธ ซึ่งสภาวะที่แปรปรวนเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายและต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมเชื่อมโยงโดยตรงกับร่างกาย นานวันเข้าก็ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นในที่สุด ดังนั้นการสวดมนต์ ฟังพระคาถา และเจริญภาวนาจึงเป็นการปรับสมดุลให้กับอารมณ์ทั้ง 7 ก่อให้เกิดภาวะสมดุลของหยินหยางภายในร่างกายและพัฒนาเป็นภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย
สำหรับการใช้ภาพทังก้าเพื่อรักษานั้นจะทำโดยให้ผู้ีที่มีโรคภัยไข้เจ็บตั้งสมาธิไปที่ภาพวาดจนกระทั่งจำภาพได้ติดตาแล้วจึงหลับตาลง ถ้าเจ็บปวดที่ใดก็ให้เอามือไปวางไว้ที่รูปของพระไภษัชยคุรุตรงที่ที่เจ็บปวด ขณะที่ฟังพระคาถาให้ตั้งจิตระลึกถึงพระคุณของพระไภษัชยคุรุและระลึกถึงภาพที่ได้ตั้งสมาธิไว้ตอนแรก จากนั้นให้จิตน้อมนำคลื่นพลังงานเสียงที่ได้ยินจากบทสวดและคลื่นพลังงานที่ได้รับการตัดถ่ายไว้ในภาพไปยังอวัยวะที่เจ็บปวดนั้น โดยพระคาถาซังเจ แมนลา สำเนียงสันสกฤตคือ
โอม นะโม ภะคะวะเต ไภษัชยะคุรุ ไวฑูรยะ ประภา ราชายะ ตถาคะตายะ
อะระหะเต สัมยักสัม พุทธายะ ตฺถยะถา ไภษัชเย ไภษัชเย ไภษัชยะ
สัมมุทคะเต สวาหา